ปริญญาธรรม

 มาวิน  โทแก้ว นักวิชาการมือใหม่*


บทนำ

          การศึกษาไทยถูกวางระบอบการศึกษาเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๒ อ้างอิงไว้ตามที่กฎหมายรองรับในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒[๑] ที่ให้ความหมาย “การศึกษา” ว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้การฝึกการอบรมการสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้ระบบการศึกษาจึงถูกแบ่งออกเป็น ๓ ระบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบ, การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นต้น

          ระบบการศึกษาของไทยเป็นระบบกว้างเพราะมองการศึกษาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต ไม่มีทางจะหยุดนิ่ง ด้วยความที่ว่า การพัฒนาตนเอง เริ่มขึ้นจากการเรียนรู้ การเรียนรู้เริ่มขึ้นจากกระบวนการศึกษา ซึ่งหากมองในอดีต การศึกษามักเกิดขึ้นแค่ในโรงเรียน แค่ในสถานศึกษา แต่เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเกิดวิกฤตอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากนักศึกษาเข้าใหม่ปี 1 ทุกมหาวิทยาลัยลดลง 70% ซึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลอย่างรุนแรงและรวดเร็ว คือ รูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในห้องเรียน และบนกระดานดำ เพราะทุกคนสามารถเรียนรู้กันได้ในทุกมุมโลกด้วยระบบออนไลน์ที่เปิดกว้างอย่างไร้ขีดจำกัด ขณะที่อัตราการเกิดที่ลดลง ส่งผลให้เกิดวิกฤติมหาวิทยาลัย จำนวนนักเรียนใหม่เข้าเรียนลดลงในภาพรวม 10-15% ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ มหาวิทยาลัยเอกชน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก มหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่นักศึกษาลดลง 20-30% และกลุ่มสองมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็ก ลดลง 50-70%[๒]

 

          มหาวิทยาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยา วิทยาลัยสงฆ์นครพนมกับยุคออนไลน์

          มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครพนม เป็นวิทยาลัยสงฆ์หนึ่งที่อยู่ในกำกับของรัฐ ตั้งอยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ใต้ร่มบารมีขององค์พระธาตุพนมเป็นสถานที่ที่ชาวธาตุพนมเคารพนับถือ มหาวิทยาฯ ได้เร่งเห็นว่า การศึกษาในอนาคตจะเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยระบบการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์เข้ามาทดแทน เพื่อยกระดับการศึกษาและรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่ซ้ำเดิม ด้วยเหตุนี้ทางมหาวิทยาลัยจึงได้มีการจัดอบรมการจัดการเรียนการสอนแบบอาศัยห้องเรียนออนไลน์ และมีการสนับสนุนให้อาจารย์ผู้สอนได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช่ไม่ว่าจะเป็น Google Classroom Emudo หรือ Thai Mooc และยังมีระบบการจัดการเรียนรู้แบบ E-Learning ของส่วนกลางที่อนุเคราะห์แก่ส่วนภูมิภาคได้เข้าใช้งานได้ในทุกจังหวัด ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารโลก ระบุว่า แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) เด็กไทยที่เรียนจบจะตกงาน 72% การทำงานถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์เอไอ ในส่วนของประเทศไทยถูกแทนที่ด้วยเอไอประมาณ 50% ยุโรป 80%[๓]

          ดังนั้น หากการเรียนการสอนยังเป็นไปในรูปแบบเดิม จะทำให้บัณฑิตที่จบออกไปจะตกงานด้วยเหตุมหาวิทยาลัยฯ จึงมีนโยบายว่า ทำอย่างไรในระหว่างที่เป็นนิสิตอยู่ในมหาวิทยาลัยจะพัฒนาเขาให้เกิดการพัฒนาเรียนรู้อย่างเต็มกำลัง ทำอย่างไรจะให้เขาสามารถนำความรู้จากวิชาเอกไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้สามารถสร้างอาชีพ สอนคนอื่น และเอาตัวรอดจากสังคมได้ โดยอาศัยหลักพระพุทธศาสนามาเป็นองค์ประกอบ

          ขณะที่กระบวนการเรียนรู้ต้องปรับเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนในห้องเรียนต้องลดลงการเรียนที่สำคัญที่สุด คือ การเรียนจากการทำงานเรียนรู้จากประสบการณ์จริง อาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครพนม จึงได้ปรับวิธีการสอนและกระบวนการตามที่ได้กล่าวข้างต้น โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะตามหลักสูตร และศักยภาพด้านเทคโนโลยีโดยอาจารย์ผู้สอนที่มีคุณภาพ   ที่จบสาขาตรงกับหลักสูตรที่เปิดสอน ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ได้เปิดการเรียนการสอน ๓ คณะ ๔ สาขาวิชา ๓ ประกาศนียบัตร ทุกหลักสูตรไม่ได้จำกัดเพียงแค่บุคคลที่อายุตามเกณฑ์ แต่เปิดให้ทุกช่วงวัยได้เข้ามาศึกษา โดยเฉพาะ ๓ ประกาศนียบัตรที่ประกอบด้วย พระพุทธศาสนา พุทธเกษตร และการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อสังคมที่ได้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาปรับใช้ที่เปิดโอกาสแก่บุคคลทั่วไปเข้าศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) บอกไว้ชัดเจนว่า หลักสูตรในระดับอุดมศึกษาบางหลักสูตรจะต้องปรับให้มีความทันสมัย การเรียนแบบคณะต้องหายไปปรับเป็นการเรียนแบบบูรณาการกันมากขึ้น  มหาวิทยาลัยที่จะอยู่ได้ต้องตอบโจทย์เด็ก มีคุณภาพ ตอบโจทย์ประเทศและโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญต้องพร้อมที่จะรับมือและต่อสู้กับปัจจัยต่าง ๆ ที่กำลังเข้ามาคุกคามอย่างหนัก

          อย่างไรก็ตามหาก

การศึกษาไทยในชั้นอุดมศึกษา ต้องเปลี่ยนเป็นการเรียนแบบเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นเรียนรู้จากประสบการณ์จริง อาจารย์ต้องแปลงร่างเป็นโค้ช กระตุ้นและดึงศักยภาพนักศึกษาทั้งระบบการศึกษาไทยและประเทศจะไปรอด

หากจะทำให้เด็กไทยเก่งได้อย่างนี้ การเรียนการสอนต้องปรับจากเดิมที่เน้นเลคเชอร์อาจต้องลดลง และส่งเสริมให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมได้ การเลคเชอร์ช่วยได้แค่จำ เข้าใจ ไม่สามารถยกระดับไปสู่การคิดวิเคราะห์นวัตกรรมหรือต่อยอดไปเป็นภูมิปัญญาจริงๆ ได้

ขณะที่ การสร้างนวัตกรรมได้จะต้องได้เจอประสบการณ์จริง ตัวอย่างเช่น วิทยาลัยเทคนิคของประเทศญี่ปุ่น เรียนแบบเลคเชอร์ในห้องเรียนเพียง 3 สัปดาห์ จากนั้นไปทำงานโรงงาน ตัวครูเองตามไปสอนในโรงงานด้วย ก่อนจะนำปัญหาที่พบจากการทำงานมาร่วมกันคิดทำวิจัย ปีถัดมาก็จะเปลี่ยนไปเรียนรู้ในอีกโรงงานหนึ่ง เพื่อให้มีประสบการณ์คิดแก้ไขปัญหาได้ ทำวิจัยไปด้วย ต่างกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ 4 ปี เรียนแต่ในห้องเรียน ซึ่งไม่ตอบโจทย์ ตรงนี้คือสิ่งที่อย่างจะเน้นว่ากระบวนการเรียนการสอนต้องปรับ

ในอนาคตจากตัวเลขพบว่าปี 2567 จะมีคนอายุ 60 ปี กว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และปี 2573 จะเพิ่มเป็น 25% ของประเทศ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด การศึกษาไทยจะเป็นตัวช่วยเสริมศักยภาพของผู้สูงวัยในประเทศไทย โดยต้องพัฒนาให้ประชากรที่เข้าสู่วัยชราทำงานได้ มีอาชีพทำ มหาวิทยาลัยจะต้องคิดหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุให้มาเรียนและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากข้อมูลข้างต้นมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครพนม จึงได้เริ่มสร้างเครือข่ายระหว่างบ้าน มหาวิทยาลัยฯ โรงเรียน เพื่อดึงเอาญาติธรรมทุกวัยเข้ามาร่วมปฏิบัติธรรมในทุก ๆ วันศุกร์ระหว่างเปิดการเรียนการสอน โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยที่มุ่งหมายจะสร้างกิจกรรม ศุกร์ถึงธรรม สุขถึงใจ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมเป็นจุดน่าสนใจของชาวชุมชนเป็นอย่างมาก เพราะกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่สร้างประโยชน์แก่หลายฝ่าย สร้างสังคมสุขด้วยธรรม พัฒนาจิตด้วยการเจริญปัญญา เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยฯ ได้อาราธนานิมนต์พระวิปัสสนาจารย์จากหลายสำนักปฏิบัติธรรมเพื่อมาให้ความรู้ ข้อคิดสติเตือนใจ และแนวทางปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าของจิตต่อไป อ่านมาถึงตรงนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “หลายท่านคงมองเห็นว่าทุกคนที่มาเรียน ณ สถาบันนี้แล้วคงมีแต่ปริญญาที่ได้กลับไป” ผู้เขียนบอกเลยว่า ไม่ใช่แน่นอน ซึ่งจะแสดงให้เห็นในหัวข้อถัดไป

ปริญญาธรรม

          อ.เปลื้อง ณ นคร[๔] ให้ความหมายของ “ปริญญา” ว่า ชั้นวิทย-ฐานะ ซึ่งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันให้แก่ผู้เรียน สำเร็จตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก (ศน.) การใช้ปัญญาวิจารณ์ หรือ กำหนดสังขาร เรียกว่า ปริญญา ในทางปฏิบัติ มี ๓ ขั้น คือ ความกำหนดรู้, ความหยั่งรู้, ความรู้รอบ

          การเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น ทำให้เกิดปริญญา คือ  ปัญญารอบรู้ ๓ ขั้น  คือ[๕]

ญาตปริญญา  คือ ปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม  ที่ปรากฏโดยสภาพไม่ใช่ตัวตนด้วยนามรูปปริจเฉทญาณเป็นต้นไปเป็นพื้นฐานให้น้อมพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น  รอบรู้ขึ้นตามลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ได้ประจักษ์แล้วในนามรูปปริจเฉทญาณ

ตีรณปริญญา คือ ปัญญาที่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยเสมอกันโดยรอบรู้ ไม่เจาะจงฝักใฝ่มุ่งหวังนามธรรมและรูปธรรมใดโดยเฉพาะ เพราะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนทั่วทั้ง ๖ ทวาร  ความสมบูรณ์ของปัญญาที่รู้ชัดในความเสมอกันของนามธรรมและรูปธรรม ทำให้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ตั้งแต่สัมมสนญาณ เป็นต้นไป

ปหานปริญญา คือ เมื่อพิจารณาความดับไปของนามธรรมและรูปธรรม จนประจักษ์แจ้งการดับไปของนามธรรมและรูปธรรมด้วยภังคญาณแล้ว ปัญญารอบรู้เพิ่มขึ้น ก็เริ่มคลายความยินดีในนามธรรมและรูปธรรม เพราะเห็นโทษของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น เป็นปหานปริญญา เป็นต้นไป จนถึงมัคคญาณ

จากข้อมูลข้างต้นสรุปได้ ว่า ปริญญาในที่นี้หมายถึง ระดับการศึกษาที่สูงกว่าการศึกษาของมัธยมตอนปลาย และสูงกว่า ปวส.หรืออนุปริญญา ส่วนปริญญาทางธรรม คือ ปริญญาที่ผู้เรียนจะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านกระบวนการปฏิบัติ หรือลงมือปฏิบัติอย่างเข้มข้น

ในทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หมายถึง ปริญญาที่พัฒนาบัณฑิตให้เป็นคนดีมีคุณธรรม และสามารถอยู่ในสังคมอย่างมีอย่างสุข โดยที่ไม่นับถือพุทธแค่ในบัตรประจำตัวประชาชน

เป้าหมายของปริญญาธรรม คือ สร้างพุทธศาสนิกชนที่เข้าใจในธรรมของพระพุทธเจ้าและเสนอทางเลือกให้ผู้เรียนได้มากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นที่ผู้เรียนจบไปแล้ว เก่ง ดี มีสุข สามารถดำเนินชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข ถึงแม้ว่าจะจบจากคณะครุศาสตร์ เป็นครูแนวพุทธ (นำกระบวนการทางพระพุทธศาสนาไปปรับใช้กับการจัดการเรียนรู้, สามารนำหลักธรรมะทางพระพุทธศาสนาถ่ายทอดแก่นักเรียนสอนให้คนมีความสุขในการใช้ชีวิต) คณะสังคมศาสตร์ รัฐศาสตรบัณฑิต เป็นนักปกครองโดยธรรม (ถอดแนวทางการปกครองจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามาปรับใช้กับการบริหารองค์กร การบริหารทรัพยากร) คณะพุทธศาสนา นักพัฒนาสังคมแนวพุทธ (การถอดองค์ความรู้เพื่อการทำให้ชุมชนอยู่อย่างเอื้ออาทรต่อกร)

กลุ่มเป้าหมาย คือ บุคคลทุกวัยที่มีความประสงค์ต้องการอยากเรียนหรือศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หรือระดับประกาศนียบัตร เพื่อต้องการยกระดับความรู้ หรือองค์ความรู้ที่สร้างความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมมากขึ้น ดังนั้น สาขาที่ดำเนินการเปิดในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครพนม เป็นไปเพื่อคนทุกวัยก็สามารถเข้ามาศึกษาต่อได้ โดยมีการกำหนดเกณฑ์การรับนิสิตใหม่ดังนี้

 สำหรับหลักสูตรปริญญาตรี

๑. คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าศึกษาที่เป็นพระภิกษุ/สามเณร

๑) ต้องสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า

๒) ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๑ กำหนดปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๑ กำหนด

๓) หรือ ต้องผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

๒. คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าศึกษาที่เป็นคฤหัสถ์

๑) ต้องสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า

๒) ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ว่าด้วยการศึกษาระดับ

๓) หรือ ต้องผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาสำหรับหลักสูตรประกาศนียบัตร

๑. คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าศึกษาที่เป็นพระภิกษุ/สามเณร

๑) ต้องสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาต้น หรือเทียบเท่า

๒) ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๑ กำหนดปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๖๑ กำหนด

๓) หรือ ต้องผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

๒. คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าศึกษาที่เป็นคฤหัสถ์

๑) ต้องสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า

๒) ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ว่าด้วยการศึกษาระดับ

๓) หรือ ต้องผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาสำหรับ

 สรุป

หากมองในมุมหนึ่ง ปริญญาธรรม ในที่นี้หมายถึงการพัฒนาคนให้ได้เรียนรู้วิชาชีวิต หรือวิชาวิปัสสนาให้เป็นบัณฑิตที่มีสติรู้ รู้เท่าทันสภาวะทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อมิให้ใจต้องหลงอยู่กับสภาวะทางอารมณ์ที่จะเข้ามากระทบจนขาดสติทำกิจหรืองานอย่างอื่นให้ผิดพลาดไป

 

เอกสารอ้างอิง



[๑] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒, (ออนไลน์), แหล่งที่มา : https://www.bic.moe.go.th/images/stories/5Porobor._2542pdf.pdf, (๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๓).

[๒] Dailynews, แนะมหา'ลัยเอกชนเน้นคุณภาพก่อนไม่รอด, (ออนไลน์), แหล่งที่มา : https://www.dailynews.co.th /education/690228, (๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๓).

[๓] Matichon, เวิลด์แบงก์ชี้ปี 73 บัณฑิตตกงานพุ่ง 72% ชี้ 'เอไอ'มาแทน ม.ในอเมริกาปิดตัวแล้ว 600 แห่ง, (ออนไลน์), แหล่งที่มา :https://www.matichon.co.th /education/news_1126294), (๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๓).

[๔] อ.เปลื้อง ณ นคร, พจนานุกรมออนไลน์, (ออนไลน์), แหล่งที่มา : https://dictionary.orst.go.th/, (๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๓).

[๕] ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม .. ครั้งที่ ๑๐๑, (ออนไลน์), แหล่งที่มา :  https://www.dhammahome.com/webboard /topic/29686, (๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๓).

ความคิดเห็น