บทบาทใหม่ของครูในประชาคมอาเซียน By มาวิน โทแก้ว นักวิชาการมือใหม่

บทบาทใหม่ของครูในประชาคมอาเซียน  By
                                                                              มาวิน  โทแก้ว 
 นักวิชาการมือใหม่

บทนำ
           เมื่อกล่าวถึงบทบาทของครูแล้ว เราจะเห็นได้เด่นชัดว่าเป็นสถานภาพหนึ่งของผู้มีหน้าที่หรือส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะครูเป็นเหมือนผู้ที่สร้างสรรค์บุคลากรและสั่งสอนเยาวชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาและดำรงชีวิตให้อยู่รอดในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเปรียบท่านเหมือนพ่อแม่คนที่สอง ที่ค่อยใส่ใจในการเจริญเติบโตของเด็กตามวัย
           ในโลกยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้คนสมัยใหม่นั้นเริ่มเรียนรู้และห่างออกจากวัฒนธรรมไทยจากอดีตเป็นอย่างมากด้วยระบบการสื่อสารที่มีวิวัฒนาการและพัฒนามากขึ้น การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า AEC ซึ่งการรวมตัวกันของ AEC ประกอบสามเสาหลัก คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political security Community – ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( ASEAN Economic community - AEC) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ( AESAN Socio – Cultural Community - ASCC) ซึ่งทำให้การสื่อสารเป็นเรื่องที่ง่ายมาก และการรับสื่อต่าง ๆ ที่เป็นวัฒนธรรมของต่างประเทศ ซึ่งเรียกว่า การสื่อสารไร้พรมแดน การที่จะปรับทัศนคติของคนในยุคนี้ ครูจำเป็นต้องเรียนรู้ให้ชัดเจนเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน อันจะเป็นผลต่อการจัดการเรียนการสอนและปฏิบัติตามบทบาทและหน้าที่ของครูให้ดียิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงได้เสนอประเด็นที่สำคัญ ๔ ประการ คือ
๑.   ความหมายของบทบาท
๒.  ความหมายของครู
๓.   ครูไทยที่สังคมคาดหวัง
๔.   บทบาทใหม่ของครูในประชาคมอาเซียน

.   ความหมายของบทบาท
           คำว่า  บทบาท มีนักวิชาการได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
           ภิญโญ  สาธร[๑] ได้กล่าวว่า บทบาท หมายถึง ความมุ่งหวังที่คาดว่าบุคคลในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งควรกระทำหรือ แสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาในสถานการณ์ใดอย่างหนึ่ง และบทบาทจะอยู่ควบคู่กับตำแหน่งที่แต่ละบุคคลดำรงอยู่เสมอ
        ราชบัณฑิตยสถาน[๒] ได้ให้ความหมายว่า บทบาท หมายถึง การทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ เช่น บทบาทของพ่อแม่ บทบาทของครู
           อุทัย  หิรัญโต[๓] ได้กล่าวว่า บทบาท หมายถึง หน้าที่ (function) หรือ พฤติกรรมอันพึงคาดหมาย (expected behavior) ของแต่ละคนในกลุ่ม หรือสังคมหนึ่ง หรือสังคมนั้นได้กำหนดขึ้น ฉะนั้นบทบาทจึงเป็น แบบแห่งความประพฤติของบุคคลในสถานะหนึ่งที่พึงมีต่อบุคคลอื่น ในสถานะที่แตกต่างกันในสังคม
            สุพัตรา  สุภาพ[๔] บทบาท หมายถึง การปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ของสถานภาพหรือตำแหน่ง บุคคลที่มีสถานภาพต่าง ๆ อาจจะมีบทบาทต่างกันออกไปทั้งบทบาทและสถานภาพเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ
           พอสรุปได้ว่า บทบาท หมายถึง แบบแผนของพฤติกรรมหรือการกระทำต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอำนาจหน้าที่ ฐานะตำแหน่ง หรือสถานภาพของแต่ละบุคคล โดยที่สังคมจะกำหนดหรือคาดหวังบทบาทของแต่ละบุคคลในแต่ละฐานะตำแหน่ง หรือสถานภาพ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดให้บุคคลนั้นๆ ยึดเป็นแนวทาง

.   ความหมายของครู
           ครู มีรากศัพท์เป็นภาษาบาลี มาจากคำว่า ครุ (คะรุ) ซึ่งแปลว่าหนักแน่น และสันสกฤตว่า คุรุ (คุ-รุ) ซึ่งแปลว่า ผู้ชี้แสงสว่าง แต่โดยความหมายในภาษาไทยก็คือครูผู้สอนประสิทธิ์ประสาทความรู้ อบรมบ่มนิสัยศิษย์ให้เป็นคนดี ยกระดับวิญญาณความรู้ดีชั่วให้แยกแยะความดีความชั่ว และรู้จักการดำรงชีวิตในแนวทางที่ถูกต้องมีคุณธรรม และมีนักวิชาการหลายท่านที่ได้ให้ความหมายของครูไว้ดังนี้
           พระเทพวิสุทธิเมธี[๕] อธิบายความหมายและความเป็นมาของคำว่าครูไว้ว่า เป็นคำที่สูงมาก เป็นผู้เปิดประทางตูวิญญาณ แล้วก็นำไปเดินทางวิญญาณ ไปสู่คุณธรรมเบื้องสูง เป็นเรื่องทางจิตโดยเฉพาะ มิได้หมายถึงเรื่องวัตถุ หรือมรรยาท หรือแม้แต่อาชีพ จึงมีน้อยมาก ครูนั้นมักจะไปทำหน้าที่เป็นปุโรหิตของพระราชา หรืออิสระชนซึ่งมีอำนาจวาสนา มีหน้าที่การงานอันใหญ่หลวง
           ครู ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน[๖] ให้ความหมายครูไว้ว่า ผู้สั่งสอนศิษย์หรือผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์
           ยนต์  ชุมจิต[๗] ได้อธิบายความหมายและความสำคัญของครูตามรูปศัพท์ภาษาอังกฤษ Teachers ซึ่งสรุปได้ดังนี้
           T (Teaching) – การสอน หมายถึง การอบรมสั่งสอนศิษย์ให้มีความรู้ ความสามารถในวิชาการทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งถือว่าเป็นงานหลักของครูทุกคนทุกระดับชั้นที่สอน
           E (Ethics)-จริยธรรม หมายถึงหน้าที่ในการอบรมจริยธรรมให้แก่นักเรียนซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลักอีกประการหนึ่งนอกจากการสั่งสอนในด้านวิชาความรู้โดยทั่วไปนอกจากนี้ครูทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นผู้มีจริยธรรมอันเหมาะสมอีกด้วยเพราะพฤติกรรมอันเหมาะสมที่ครูได้แสดงออกจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปลูกฝังศรัทธาให้ศิษย์ได้ปฏิบัติตาม
            A ( Academic) – วิชาการ หมายถึง ครูต้องมีความรับผิดชอบในวิชาการอยู่เสมอ กล่าวคือ ครูต้องเป็นนักวิชาการอยู่ตลอดเวลา เพราะอาชีพของครูต้องใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ดังนั้นครูทุกคนต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เป็นประจำ หากไม่กระทำเช่นนั้นจะทำให้ความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้นล้าสมัย ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการใหม่ ๆ ซึ่งมีอย่างมากมายในปัจจุบัน
           C (Cultural Heritage) – การสืบทอดวัฒนธรรม หมายถึงครูต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งให้ตกทอดไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง
           H (Human Relationship) – มนุษย์สัมพันธ์ หมายถึง การมีมนุษย์สัมพันธ์อันดีของครูต่อบุคคลทั่วๆไป เพราะการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้ครูสามารถปฏิบัติหน้าที่ของครู ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีของครูยังช่วยทำให้สถาบันศึกษาที่ครูปฏิบัติงานอยู่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วอีกด้วย ดังนั้น ครูทุกคนจึงควรถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบอีกประการหนึ่งที่จะต้องคอยผูกมิตรไมตรีอันดีระหว่าง บุคคลต่าง ๆ ที่ครูมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย มนุษย์สัมพันธ์ระหว่างครูกับบุคคลต่างๆ
           E (Evaluation) – การประเมินผล หมายถึงการประเมินผลการเรียนการสอนนักเรียนซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของครูเพราะการประเมินผลการเรียนการสอนเป็นการวัดความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ในด้านต่างๆหากครูสอนแล้วไม่มีการประเมินผลหรือวัดผลครูก็จะไม่ทราบได้ว่าศิษย์มีความเจริญก้าวหน้าในด้านใดมากน้อยเพียงใด ดังนั้น ครูจึงควรจะระลึกอยู่เสมอว่า ณ ที่ใดมีการสอน ทีนั่นจะต้องมีการสอบ สำหรับการประเมินผลการเรียนการสอนของนักเรียนนั้น ครูสามารถใช้วิธีการต่าง ๆ ได้หลายวิธี ทั้งนี้อาจจะใช้หลาย ๆ วิธีในการประเมินผลครั้งหนึ่งหรือเลือกใช้เพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ในการประเมินผลการเรียนการสอนนั้นมีหลายวิธี เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การทดสอบ การจัดอันดับคุณภาพ การใช้แบบสอบถามและแบบสำรวจ การบันทึกย่อและระเบียนสะสม เป็นต้น
           การประเมินผลการเรียนการสอนทุกๆ วิชา ครูควรประเมินความเจริญก้าวหน้าของนักเรียนหลายๆ ด้าน ที่สำคัญ คือ ด้านความรู้ (Cognitve Domain )  ด้านเจตคติ ( Affective Domain) ด้านการปฏิบัติ (Psychomotor Domian)
           R (Research) – การวิจัย หมายถึง ครูต้องเป็นนักแก้ปัญหา เพราะการวิจัยเป็นวิธีการแก้ปัญหาและการศึกษาหาความจริง ความรู้ที่เชื่อถือได้โดยวิธี การวิจัยของครูในที่นี้ อาจจะมีความหมายเพียงแค่ค้นหาสาเหตุต่าง ๆ ที่นักเรียนมีปัญหาไปจนถึงการวิจัยอย่างมีระบบในชั้นสูงก็ได้ สาเหตุที่ครูต้องรับผิดชอบในด้านนี้ก็เพราะในการเรียนการสอนทุกๆ วิชา ควรจะต้องพบกับปัญหาต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น ปัญหาเด็กไม่ทำการบ้าน เด็กหนีโรงเรียน เด็กที่ชอบรังแกเพื่อน และเด็กที่ชอบลักขโมย เป็นต้น พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าครูสามารถแก้ไขได้ก็จะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
              S (Service) บริการ หมายถึง การให้บริการ คือ ครูจะต้องให้บริการแก่สังคมหรือบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังต่อไปนี้
                 ๑. บริการความรู้ทั่วไป ให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง ประชาชนในท้องถิ่น
           ๒. บริการความรู้ทางด้านความรู้และสุขภาพอนามัย โดยเป็นผู้ให้ความรู้หรือเป็นผู้ประสานงานเพื่อดำเนินการให้ความรู้แก่ประชาชน
                   ๓.  บริการด้านอาชีพ เช่น ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพื่อจัดฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นให้ประชาชนในท้องถิ่น
                ๔. บริการให้คำปรึกษาหารือทางด้านการศึกษาหรือการทำงาน
                ๕. บริการด้านแรงงาน เช่น ครูร่วมมือกับนักเรียนเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน
                   ๖.  บริการด้านอาคารสถานที่แก่ผู้ปกครองนักเรียนที่มาขอใช้อาคารสถานที่ในโรงเรียนด้วยความเต็มใจ
           จากความหมายของครูข้างต้นผู้เขียนสรุป ได้ว่า ครู หมายถึง ผู้เปิดประตูทางวิญญาณ ถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ที่ตนมี เพื่อสร้างสรรค์ผู้เรียนให้เกิดการพัฒนา ด้วยวิธีการสอนและการจัดกิจกรรมการเรียน เพื่อสร้างบุคลากรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศ

.   ครูไทยที่สังคมคาดหวัง
           การเป็นครูนั้นไม่ใช่ว่าใครที่พอมีความรู้หรือท่าทางน่าเชื่อถือก็จะมาเป็นครูได้ ครูเป็นคุณลักษณะที่ผู้ประสงค์ดำเนินอาชีพนี้ต้องฝึกฝนศึกษาจนเชี่ยวชาญ จนเป็นที่ยอมรับขององค์กรวิชาชีพในระดับหนึ่งเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้เพราะครูเป็นทั้งฐานะของบุคคลและวิชาชีพที่สังคมตาดหวังว่าจะต้องมีบทบาท ความสำคัญ หน้าที่ ความรับผิดชอบ คุณลักษณะ บุคลิกภาพ ค่านิยม จรรยาบรรณ และคุณธรรมที่เป็นแบบอย่างได้นั่นเอง หากจะคิดต่อไปว่าความเป็นครูของครูไทยควรเป็นอย่างไรในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์[๘] ได้อธิบายไว้ว่า
           ๑. ครูคือมนุษย์  ในโลกนี้มีพลโลกอยู่ ๒ ประเภทเท่านั้น ประเภทแรกคือคน และประเภทที่ ๒ คือมนุษย์ พวกที่เป็นคนนั้น เป็นเพียงสิ่งที่มีชีวิตชนิดหนึ่งที่พัฒนาแต่ร่างกายและความเป็นอยู่แต่จิตใจและความรู้สึกนึกคิดหาได้พัฒนาขึ้นไม่ แต่ละวันจะดำเนินไปตามแรงกระตุ้นของสัญชาตญาณ หิวก็กิน ง่วงก็นอน ใครทำให้ขัดใจก็โกรธและทำร้าย หลงติดอยู่ในกามและเกียรติยศ หัวใจจึงร้อนเร่าและทุรนทรายอยู่ตลอกเวลา คนพวกนี้ถ้ามาเป็นครู ก็จะคิดแต่เพียงว่าทำอย่างไรถึงจะได้รับ ได้เลื่อนและได้รวย คิดถึงแต่ตัวเอง ซึ่งก็คือผู้รับจ้างสอนหนังสือเท่านั้นเอง
           ๒. ครูคือกัลยาณมิตร ความหมายของกัลยาณมิตรนั้น กว้างไกลและลึกซึ้งยิ่งกว่ามิตรแท้ เพราะนอกจากจะเป็นเพื่อนที่มีความจริงใจต่อกันและกันแล้ว กัลยาณมิตรยังเป็นผู้ชี้แนะและช่วยเหลือให้เกิดความเจริญอย่างชอบธรรม ครูที่ยืนสอนอยู่คนเดียวทุกวันๆ นั้นเป็นเพียงผู้บอกวิชา แต่ครูที่มองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่ง ของสังคม และเห็นว่านักเรียนคือมนุษย์ที่มีหัวใจ มีความรู้สึกนึกคิด มีพ่อแม่ที่ส่งลูกมาหาครู มาอยู่กับครูที่โรงเรียน ด้วยความคาดหวังที่จะทำงานหนักและมีความรับผิดชอบที่จะจัดกระบวนการและกิจกรรมทุกอย่างให้ลูกศิษย์ของตนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีความรู้ ความสามารถ ความคิดและความดี
           ๓. ครูคือผู้นำทางปัญญาและวิญญาณ  วิญญาณ คือความรู้แจ้งหยั่งรู้ว่าอะไรคือสิ่งผิดชอบชั่วดี อะไรคือบุญและบาปอะไรคือความจริงและเท็จและอะไรคือความวิวัฒน์และความวิบัติผู้ที่จะมีวิญญาณเช่นนี้ จะต้องได้รับการฝึกหัดขัดเกลาได้รับการสั่งสอนฝึกฝนให้รู้จักภาวะที่แท้จริงของธรรมชาติ หน้าที่และกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและประจักษ์ผลที่เกิดจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
               นักเรียนจะมีปัญญาและวิญญาณที่ดีได้ก็ต่อเมื่อครูเป็นผู้รู้แจ้งรู้จริงและคิดชอบและสามารถเป็นผู้นำทาง ที่ถูก ที่ควร ให้เจริญรอยตามโดยนัยนี้ครูจึงเป็นแบบอย่างและแม่พิมพ์ แต่ครูจะไม่ครอบงำและบังคับให้ศิษย์เป็นทาสความคิดของครู นักเรียนเป็นมนุษย์ เป็นตัวของตัวเอง ที่อาจจะเดินตามครูได้ แต่ต้องเดินวิธีและท่าทางของตนเอง ถ้าครูนำทางให้ถึงหมายอันพึงประสงค์ของหลักสูตรได้ ครูก็ได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว ครูที่เป็นผู้นำทางปัญญาและทางวิญญาณนั่นเอง จึงเป็นครูที่ดีเด่นจริง
              ๔. ครูคือผู้มีศาสตร์และศิลปะ  ผู้ที่เป็นครู ต้องสามารถประกาศได้ว่า วิชาครูนั้นเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง เป็นศาสตร์ที่มีพื้นฐานมาหนักแน่น มีหลักการและทฤษฎี มีวิธีการและแนวปฏิบัติ สามารถวิจัยและพัฒนาให้เกิดความรู้ใหม่ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพและคุณธรรม เป็นศาสตร์ที่สร้างสรรค์ให้ชีวิตและจิตใจของมนุษย์ให้มีคุณภาพและคุณค่าต่อตนเองและส่วนรวม ครุศาสตร์จึงมิใช่สามัญสำนึก (Common Sense) ไม่ใช่การเอาชีวิตของเด็กมาลองผิดลองถูกและไม่ใช่การลงทุนธุรกิจ ผู้ที่เป็นครูจึงต้องได้รับการฝึกฝนอบรมทั้งในวิธีที่เป็นระบบและในครรลองของประสบการณ์
              ๕. ครูคือผู้ที่ดำรงและค้ำจุนความเป็นไทย  ประเทศชาติจะมั่นคงได้อย่างไร อิสรภาพที่ไหน ถ้าบ้าน เมืองมีรั้วรอบขอบชิดแข็งแรง แต่ภายในบ้านเมืองนั้น มีแต่ความยับเยินทางเศรษฐกิจ มีแต่ความเป็นทาสทางวัฒนธรรม มีแต่ทาสทางความคิดที่ปล่อยไปไม่ได้
           ครูจึงเป็นกลุ่มบุคคล ที่ต้องตรากตรำต่อสู้กับความโง่เขลา ความไม่รู้และความจนตรอกทางความคิด การรู้จักมองคนอื่น และศึกษาแนวคิดของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ครูไทยต้องเป็นคนที่มีหลักและมีความเป็นไทย ครูไทยต้องรู้ว่า ประวัติความเป็นมาและการสอนแบบไทยแท้ๆ นั่นเป็นอย่างไร คุณค่าอันสูงส่งของการศึกษาไทยนั้นอยู่ที่ไหนจะจัดการสอนโดยนำปรัชญาของไทยเองมาใช้ไดอย่างไร จึงจะเกิดวิธีอันกลมกลืนเหมาะสมกับสภาพของเด็กไทย และชุมชน
           จากคำกล่าวของศาสตราจารย์ สุมน อมรวิวัฒน์ แสดงให้เห็นว่าการเป็นครูนั้นไม่ใช่ใครจะเป็นก็เป็นได้ การเป็นครูคือจะต้องเป็นมนุษย์ เป็นผู้นำทางปัญญาละวิญญาณ เป็นกัลป์ยานมิตร เป็นผู้มีศาสตร์และศิลป์ และเป็นผู้ค้ำจุนความเป็นไทย ฉะนั้นผู้ที่เข้าสู่วงการครูมีความประสงค์จะประกอบวิชาชีพครู       จึงต้องมีความศรัทธาในวิชาชีพและกำหนดรูปแบบของครูที่ตนจะเป็น แล้วหมั่นฝึกฝนจิตใจ ความคิด สติปัญญาและความประพฤติปฏิบัติตนไปตามรูปแบบที่ตนกำหนดไว้ก็ย่อมสามารถเป็นครูที่ดีได้
.   บทบาทใหม่ของครูในประชาคมอาเซียน
              ๔.๑    ความหมายและความเป็นมาของประชาคมอาเซียน[๙]
                   ประชาคมอาเซียน คือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nation หรือ ASEAN) โดยมีการจัดตั้งในครั้งแรกมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมและร่วมมือในเรื่องสันติภาพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ องค์ความรู้ สังคมวัฒนธรรม บนพื้นฐานความเท่าเทียบกันและผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก AEC หรือ Asean Economics Community  คือ การรวมตัวกันของชาติใน Asean ๑๐ ประเทศ โดยมี ไทย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา บรูไน เพื่อที่จะให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน มีอำนาจต่อรองต่าง ๆกับคู่ค้าได้มากขึ้น และการนำเข้า ส่งออกของชาติในอาเซียนก็เสรี ยกเว้นสินค้าบางชนิดที่แต่ละประเทศอาจจะขอไว้ไม่ลดภาษีนำเข้า Asean จะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและมีผลเป็นรูปธรรม ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ซึ่งการรวมตัวกันประกอบด้วยสามเสาหลัก คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน บทบาทที่สำคัญของครูเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินการพัฒนาประเทศให้เจริญและตอบสนองต่อการของประเทศ
                        เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสารวิสัยทัศน์อาเซียน ๒๐๒๐ (ASEAN Vision ๒๐๒๐) เพื่อกําหนดเป้าหมายว่า ภายในปี ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๒๐) อาเซียนจะเป็น
                   ๑)  วงสมานฉันท์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - A Concert of Southeast Asian Nations
                   ๒)  หุ่นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างมีพลวัต - A Partnership in Dynamic Development
                   ๓)  มุ่งปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอก - An Outward-looking ASEAN และ
                   ๔)  ชุมชนแห่งสังคมที่เอื้ออาทร - A Community of Caring Societies
                   ต่อมาในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๗-๘ ตุลาคม ๒๕๔๖ ที่เมือง บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำอาเซียนได้ตอบสนองต่อการบรรลุวิสัยทัศน์อาเซียนเพิ่มเติม โดยได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ฉบับที่ ๒ (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) เห็นชอบให้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๒๐) ประกอบด้วย ๓ ด้านหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN SocioCultural Community: ASCC) 
                   อย่างไรก็ดีที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๒ เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๐ ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้นำอาเซียนได้ลงนามแถลงการณ์เซบูเห็นชอบให้เร่งรัดการรวมตัวเป็น ประชาคมอาเซียนภายในปี ๒๕๕๘ (ค.ศ. ๒๐๑๕) เพื่อให้อาเซียนสามารถปรับตัวและจัดการกับประเด็นท้าทายของทุกมิติในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อาเซียนได้จัดทํา แผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (Roadmap for ASEAN Community ๒๐๑๕) ซึ่งผู้นำ อาเซียนได้รับรองเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๒ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๔ ที่ชะอํา- หัวหิน
           ในขณะที่ไทยดํารงตําแหน่งประธานอาเซียน อาเซียนให้ความสําคัญกับการเร่งรัดการปฏิบัติตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการเร่งรัดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตภายในภูมิภาคเป็นหลัก และลดการพึ่งพาเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ในขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้มีความเสมอภาคกันระหว่างสมาชิกมากขึ้น ทั้งนี้ ล่าสุด ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๑ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ผู้นำอาเซียนได้ ตกลงที่จะกําหนดวันที่อาเซียนจะเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘

              ๔.๒   บทบาทหน้าที่ของครูในยุคโลกาภิวัตน์
                   บทบาทหน้าที่ของครู ได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายดังนี้
                   ยนต์ ชุ่มจิต[๑๐] ได้สรุปหน้าที่ของครูไว้ดังนี้
                   ๑. สอนศิลปวิทยาให้แก่ศิษย์ ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญสำหรับครู ครูที่ดีต้องทำการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาการสอนให้สอดคล้องกับความสามารถและความสนใจของนักเรียน นอกจากนั้นต้องสามารถให้บริการการแนะแนวในด้านการเรียน การครองตน และรักษาสุขภาพอนามัย จัดทำและใช้สื่อการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งสามารถปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นและสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน
                   ๒. แนะแนวการศึกษาและอาชีพที่เหมาะสมให้แก่ศิษย์ เพื่อช่วยให้ศิษย์ของตนสามารถเลือกวิชาเรียนได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ครูต้องคำนึงถึงสติปัญญา ความสามารถ และความถนัดของบุคลิกภาพของศิษย์ด้วย
                   ๓. พัฒนาและส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ โดยการจัดกิจกรรม ซึ่งมีทั้งกิจกรรมการเรียนการสอนในหลักสูตร และกิจกรรมการเรียนการสอนนอกหลักสูตร
                   ๔. ประเมินผลความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ เพื่อจะได้ทราบว่า ศิษย์ได้พัฒนาและมีความเจริญก้าวหน้ามากน้อยเพียงใดแล้ว การประเมินผลความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ควรทำอย่างสม่ำเสมอ
                   ๕. อบรมคุณธรรม จริยธรรม ความมีระเบียบวินัย และค่านิยมที่ดีงามให้แก่ศิษย์ เพื่อศิษย์จะได้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมในวันหน้า
           ๖. ปฏิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานและสถานศึกษา ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติครูและจรรยาบรรณครู เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์
           ๗. ตรงต่อเวลา โดยการเข้าสอนและเลือกสอนตามเวลา ทำงานสำเร็จครบถ้วนตามเวลาและรักษาเวลาที่นัดหมาย
           ๘. ปฏิบัติงาน ทำงานในหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
           ๙. ส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถของคน

           ส่วน รุ่ง แก้วแดง[๑๑] เสนอกระบวนการสอนของครูในยุคโลกาภิวัตน์ไว้ ๑๐ ขั้นตอน ดังนี้
           ๑. ศึกษารวบรวมข้อมูลของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ครูต้องศึกษาวิเคราะห์วิจัยเพื่อทำความรู้จักกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล ดูพัฒนาการของเด็ก ดูข้อมูลภูมิหลังพื้นความรู้ความสามารถทางการเรียน และความต้องการของผู้เรียน
           ๒. วิเคราะห์เพื่อค้นหาศักยภาพของผู้เรียน โดยใช้จิตวิทยาการเรียนรู้หรือเทคนิคพหุปัญญา (Multiple Intelligence) เพื่อดูว่าผู้เรียนมีศักยภาพทางปัญญาด้านไหนมากน้อยเท่าใด ครูก็จะสามารถช่วยเหลือแนะนำเพื่อจัดการศึกษาให้เสอดคล้องกับศักยภาพและความสามารถของผู้เรียนได้ การวิเคราะห์เช่นนี้ครูจะสามารถช่วยทั้งผู้เรียนที่มีสติปัญญาสูงโดยส่วนรวม หรือมีความพิการเบื้องต้น ด้านใดด้านหนึ่งก็สามารถที่จะพัฒนาไปได้เต็มตามศักยภาพ
           ๓. รวมกับผู้เรียนในการสร้างวิสัยทัศน์ ครูกระตุ้นความต้องการของผู้เรียนได้โดยการช่วยเด็กสร้างวิสัยทัศน์หรือความฝันที่จะไปให้ไกลที่สุด เพื่อที่จะสร้างพลังและแรงจูงใจ
           ๔. ร่วมวางแผนการเรียน การเรียนเป็นสิทธิความรับผิดชอบของผู้เรียนหน้าที่ของครูก็คือเป็นผู้ร่วมวางแผน เป็นผู้ให้คำแนะนำในฐานะผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์มากกว่า แต่การวางแผนการเรียนจริงๆ นั้นต้องเป็นเรื่องของผู้เรียน เพื่อปลูกฝังให้เด็กรู้จักการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย
           ๕. แนะนำช่วยเหลือเรื่องการเรียน เป็นขั้นตอนที่จะเข้ามาทดแทนขั้นตอนการสอนเดิม คือแทนที่ครูจะบอกเนื้อหาให้แบบเดิม ครูก็เพียงแต่แนะนำเนื้อหาบางส่วนและวิธีการเรียนให้ผู้เรียน
           ๖. สรรหาและสนับสนุนสื่ออุปกรณ์ ครูเป็นผู้สนับสนุนสรรหาสื่อและอุปกรณ์ต่างๆ จัดหาเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ใช้ประกอบการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนด้วยตนเองได้
           ๗. ให้ผู้เรียนสร้างความรู้เอง เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง ขั้นตอนนี้อาจเป็นเรื่องยากและเรื่องใหม่สำหรับครู เพราะครูที่คุ้นอยู่กับการสอนแบบเดิมจะไม่อดทนที่จะปล่อยให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง และจะหันกลับไปใช้วิธีบอกให้จำอย่างเดิม
           ๘. เสริมพลังและสร้างกำลังใจ หน้าที่ของครูอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องเสริม พลังแก่ผู้เรียน อธิบายหรือแนะนำเพื่อให้ ผู้เรียนมีความตั้งใจที่จะเรียนต่อไป ครูต้องใช้ทุกวิธีที่จะกระตุ้นเพื่อสร้างความสนใจให้เรียนต่อไปได้
           ๙. ร่วมการประเมินผล หน้าที่ของครูในขั้นประเมินผลคือ จะไม่วัดผลฝ่ายเดียวแบบเดิม แต่ให้คำแนะนำเรื่องการวัดและประเมินผล โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินผลการเรียนด้วยตนเอง เพื่อดูว่าสามารถเรียนได้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแผนมากน้อยเพียงใด ถ้าผู้เรียนยังไม่บรรลุผลตามที่วางไว้ก็จำเป็นที่จะต้องกลับไปวางแผนและแก้ไขใหม่
           ๑๐. เก็บรวบรวมข้อมูล ข้อมูลที่ได้จากการประเมินผลจะเป็นข้อมูลย้อนกลับ เพื่อให้ผู้เรียนนำไปใช้ในการปรับปรุงแก้ไขการเรียนต่อไป
           ระบบการเรียนการสอนอย่างนี้ใช้มากในต่างประเทศที่ได้ปฏิวัติให้ครูทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก และประสบความสำเร็จมาแล้ว ในวงการแพทย์ก็ใช้วิธีนี้ คือเป็นระบบให้คนไข้ดูแลตัวเองและพบว่าคนคนไข้ดูแลตัวเองได้ดีกว่าที่แพทย์ทำให้ เพราะชีวิตเป็นคนไข้แพทย์เป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำเรื่องการรักษา
           ครูที่สอนตามกระบวนการดังกล่าวมานี้จะมีภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ภาพที่ครูยืนอยู่หน้าชั้นใช้เพียงชอล์กกับกระดานและบอกให้เด็กท่องจำ จะกลายเป็นอดีตไปอย่างสิ้นเชิง ครูยุคใหม่จะมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก” (Facilitator) ผู้ให้คำแนะนำและเสริมพลังแก่นักเรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง
           การสอนเป็นศาสตร์ที่มีกฎเกณฑ์ลำดับและระบบ ศาสตร์แห่งการสอนเป็นวิทยาการที่ศึกษาเล่าเรียนและฝึกฝนให้แกร่งกล้าได้
           สำหรับศิลปะแห่งการสอนของครูไทยนั้นพระเทพวิสุทธิ[๑๒]  อธิบายไว้ในหัวข้อเรื่อง องค์ประกอบเกี่ยวกับการสอน ดังนี้
           ๑. สอนเท่าที่ควรสอน การสอนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามหลักสูตรนั้น ครูสามารถกำหนดเนื้อหาสาระได้มากมาย ฉะนั้นในการสอนแต่ละครั้งครูต้องกำหนดเนื้อหาให้เหมาะสมกับวัย ความสนใจ ระยะเวลาในการสอนดังที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า สิ่งที่ตถาคตตรัสรู้ เท่ากับใบไม้ทั้งป่า เอามาสอนพวกเธอนี้เท่ากับใบไม้กำมือเดียวตามนัยแห่งความหมายก็คือ ให้เรียนเท่าที่ควรเรียน นั่นเอง
           ๒. สอนอย่างชัดเจน ครูจะสอนเรื่องอะไร ก็ต้องสอนอย่างชัดเจน บอกให้หมดว่าสิ่งนั่นคืออะไร สิ่งนั้นเป็นอย่างไร เปรียบเทียบได้กับสิ่งใด มีกี่อย่าง กี่ประเภท กี่ลักษณะ ไม่สอนให้ออกนอกเรื่อง
              ๓.  สอนอย่างมีเหตุผลอยู่ในตัว หมายความว่าคำสอนนั้นมีเหตุผลชัดเจน มีหลักเกณฑ์ มีคำอธิบายให้พอใจ
           ๔. สอนชนะน้ำใจผู้เรียน หมายความว่าต้องสอนให้ผู้เรียนหมดปัญหาหมดข้อสงสัย มีคำอธิบายที่ทำให้หมดแง่ที่จะคัดค้านหรือโต้เถียง ผู้เรียนยอมรับ หรือยอมปฏิบัติตามครู
           ๕. สอนให้เกิดความร่าเริง หมายความว่าทั้งผู้สอนและผู้เรียน สนุกสนานในการศึกษาเล่าเรียน ไม่หงอยเหงาหรือไม่ใช่ทนฟัง ทนจำ ทนท่อง ต้องสอนให้เกิดความพอใจ
           ๖. สอนให้ผู้ฟังเกิดความกล้าในการที่จะปฏิบัติตาม การสอนให้เกิดความกล้า ยิ่งเรียนยิ่งกล้าอยากที่จะปฏิบัติตาม การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนปฏิบัติจะส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกได้ด้วยตนเอง
.   สรุป
           จากการศึกษาผู้เขียนได้มีแนวทางในการพัฒนาและองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาแต่ละประเด็น บทบาท เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ให้เรามาตามหน้าที่ ตำแหน่งงาน ที่แสดงออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งบ้างบทบาทได้มาจากความสามารถและโดยกำเนิด เช่น บทบาทของลูก และบทบาทของครู เป็นต้น
           ครู ตามความหมายตามรูปศัพท์ คะ-รุ ซึ่งมีความหมายแปลว่าหนัก จากความหมายดังกล่าว ครู คือผู้ที่มีความอดทนศึกษาเล่าเรียนเป็นเวลายาวนาน เมื่อได้เป็นครูแล้วก็ต้องรับหน้าที่หลายอย่างนอกจากการสอน อบรมนักเรียนของตน อดทนสั่งสอนเยาวชน เพื่อหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเขาเหล่านั้นจะกลับมาพัฒนาชุมชนของตนเอง
           สังคมไทยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งมากว่าครู จักต้องพัฒนาลูกหลานของตนเองให้ไปสู่จุดสูงสุดของการดำเนินชีวิต เพราะครูคือผู้ที่มีความเป็นเพื่อน เป็นผู้ปลูกฝั่งทางความรู้ ความคิด และทัศนคติต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ถ้าสอนดีแนะนำดี ประเทศก็ย่อมพัฒนาตามไปด้วย
           อาเซียน เป็นการรวมตัวกันของประเทศแถบตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง ๑๑ ประเทศ เพื่อจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาการตลาด การเมือง และการสร้างวัฒนธรรมร่วมกัน ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ก็จะมีการเปิดอาเซียนอย่างเป็นทางการ ชาวต่างชาติก็จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ภาษาอังกฤษจึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในการติดต่อสื่อสารกับนานาประเทศที่เข้ามาลงทุน
           ดังนั้น ครู จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาความสามารถของตนเอง และให้ความสนใจในการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียน ด้วยเหตุที่ว่าความรู้ไม่ได้อยู่ห้องเรียนเสมอไป การศึกษาหาความรู้เองจึงเป็นสิ่งจำเป็น บทบาทของครู ต้องให้คำแนะนำต่อลูกศิษย์ เพื่อไม่ให้ปล่อยการเรียนรู้ไปตามยุค




บรรณานุกรม
กรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ. ประชาคมอาเซียน. เอกสาร pdf แหล่งที่มา ; http://www.mfa.go.th/asean/th /asean-media-center/๒๕๓๙. ค้นหา วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๘.
พุทธทาสภิกขุ. ธัมมิกสังคมนิยม. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๒๙.
ภิญโญ  สาธร. หลักบริหารการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: วัฒนาพานิช, ๒๕๑๖.
ยนต์ ชุ่มจิต. ความเป็นครู. กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์. ๒๕๓๙.
รุ่ง  แก้วแดง. ปฏิวัติการศึกษาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ ๕). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน. ๒๕๔๑.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพมหานคร: อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๒๕.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพมหานคร: อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๔๖.
สุมน อมรวิวัฒน์. สมบัติทิพย์ของการศึกษาไทย (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพมหานคร: คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ๒๕๓๕.
สุพัตรา  สุภาพ. สังคมวิทยา. กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๙.
อุทัย  หิรัญโต. การปกครองท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร: โอเดียนสโตร์, ๒๕๒๖.





*นิสิตสาขาวิชาสังคมศึกษา ชั้นปีที่ ๔  มจร. วิทยาลัยสงฆ์นครพนม
[๑] ภิญโญ  สาธร, หลักบริหารการศึกษา. (กรุงเทพมหานคร: วัฒนาพานิช, ๒๕๑๖), หน้า ๑๙.
[๒] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (กรุงเทพมหานคร: อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๒๕).
[๓] อุทัย  หิรัญโต, การปกครองท้องถิ่น, (กรุงเทพมหานคร: โอเดียนสโตร์, ๒๕๒๖).
[๔] สุพัตรา  สุภาพ, สังคมวิทยา, (กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๙).
[๕] พระเทพวิสุทธิเมธี (พุทธทาสภิกขุ), ธัมมิกสังคมนิยม, (กรุงเทพเทพมหานคร : มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๒๙), หน้า ๙๒-๙๔.
[๖] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (กรุงเทพมหานคร: อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๔๖), หน้า ๒๒๕.
[๗] ยนต์ ชุ่มจิต, ความเป็นครู, (กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์, ๒๕๓๙), หน้า ๔๙-๕๕.
[๘]สุมน อมรวิวัฒน์, สมบัติทิพย์ของการศึกษาไทย (พิมพ์ครั้งที่ ๒), (กรุงเทพมหานคร: คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๕), หน้า ๔๖๘-๔๗๔.
[๙] กรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ, ประชาคมอาเซียน, เอกสาร pdf แหล่งที่มา ; http://www.mfa.go.th/asean/th /asean-media-center/๒๕๓๙. ค้นหา วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๘.
[๑๐] ยนต์ ชุ่มจิต, ความเป็นครู, (กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์, ๒๕๓๙), หน้า ๔๙-๕๕.
[๑๑]รุ่ง  แก้วแดง, ปฏิวัติการศึกษาไทย, พิมพ์ครั้งที่ ๕. (กรุงเทพมหานคร : มติชน, ๒๕๔๑), หน้า ๑๔๐ – ๑๔๖.
[๑๒] พุทธทาสภิกขุ, ธัมมิกสังคมนิยม, (กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๒๙), หน้า ๒.

ความคิดเห็น